ผมไม่ได้หมายถึงวงการดนตรี Rock’n Roll แต่คือ Sex, Drugs and Rock’n Roll in Bookselling 


ผมนึกถึงวลีนี้จากประกาศคำสั่งงดนั่งทานในร้านอาหารด้วยมาตรการป้องกันโควิด อย่างแรกคือเห็นใจผู้ประกอบการ นักดนตรี และผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเลือกปลอบประโลมใจด้วยวลีที่ว่า “ตอนนี้ใครก็โดนกันทุกคน” มันเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่จะเหนี่ยวรั้งให้ใครสักคนปลอบโยนกลับต้องมลายไป ประหนึ่งต้องหุบปาก อย่าโวยวาย และยอมรับมัน....อยู่ที่เรียนรู้ ตลกร้ายเกินไป


ก่อนที่จะไปถึง Sex, Drugs and Rock’n Roll ผมนึกถึงอนาคตร้านหนังสือ ไม่ว่าจะช่วงไหน ดี ร้าย ลำบาก พวกเราไม่รู้จะถูกจัดอยู่กลุ่มไหนดี ทั้งสองด้านของธุรกิจหนังสือไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ หรือร้านหนังสือ เราไม่ได้เป็นร้านอาหาร ไม่ได้เป็นผับบาร์ เราจะเรียกตัวเองว่ากลุ่มธุรกิจบันเทิงได้มั้ย ก็ไม่น่าจะใช่ หรือกลุ่มธุรกิจด้านสันทนาการ ก็ดูไม่ค่อยชัดเจน เราจะอยู่กลุ่มไหนดี... กลุ่มที่ชัดเจน และเสียงดังพอให้ผู้มีอำนาจได้ยินเราบ้าง 


ก่อนโควิดผมจ่ายค่าเช่าร้านตรงทุกเดือน ไม่มีเดือนไหนที่จะมีค่าใช้จ่ายค้างจ่ายข้ามไปในเดือนถัดไป ไม่มีค่าหนังสือที่ต้องค้าง โควิดรอบแรก รอบสองยังพอเบียด ๆ รักษาเครดิตไปได้ แต่พอเข้ารอบสามเท่านั้นทุกอย่างพังไปหมด ผมเคยให้สัมภาษณ์ราวไตรมาสที่สามปีที่แล้วว่าปลายปี (2020) เราคง Turnaround หรือกลับมากำไรได้อีกครั้ง ในความเป็นจริงพอเริ่มต้นระบาดรอบสองนอกจากจะไม่ Turnaround แล้วยัง “Continue to go Deep” คือลึกลงไปในวังวน 


คนขายหนังสือเชื่อคนง่าย และอดทนมาก เมื่อได้ยินว่าอีก 120 วัน เราตั้งความหวังกันใหม่ และทั้ง ๆ ที่ขายหนังสือหน้าร้านไม่ได้เลยเราก็ไม่เคยเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ผมอาจจะเคยขอ แต่เขาไม่ให้ ก็หยุดอยู่ตรงนั้น 


นึกไปนึกมาเรื่องห้ามนั่งในร้านอาหารถึงธุรกิจที่ทำอยู่เลยตั้งคำถามถึง “อนาคตของร้านหนังสือ” เทียบกับสิบปีที่แล้วที่ผมเริ่มต้นทำร้านหนังสือ ตอนนี้เหมือนว่ากระแสการอ่านหนังสือเล่มจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จริง ๆ แล้วเราอ่านมากขึ้นแต่มันยังไม่มากพอที่จะพยุงธุรกิจเอาไว้ได้ หรือกระแสนั้นเกิดขึ้นเหมือนลมแล้งในหน้าร้อนกันแน่ 


ผมมีคนรู้จักทำร้านหนังสือเด็กชื่อ Booksberry เธอตั้งใจทำร้านให้เป็นหมุดหมายของครอบครัวที่ต้องการใช้เวลาคุณภาพด้วยกันในร้านหนังสือ หรือบางส่วนที่ทุ่มเทให้เป็นห้องสมุด วันนี้เหลือเพียงช่องทางออนไลน์ ร้านนี้คือร้านจำหน่ายหนังสือเด็กที่ดีที่สุดในประเทศไทย ส่วนผสมของหนังสือในหลากหลายภาษาไม่ได้ถูกเลือกจากความรู้ที่ฉาบฉวย แต่คนเลือกต้องเป็นลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า Well Educated Person ในด้านหนังสือเด็ก ถ้าอยากรู้จัก Kathleen Kelly นางเอกเจ้าของร้านหนังสือ Books Around the Corner จากภาพยนตร์ You’ve Got Mail ฉบับภาษาไทยต้องเป็นเธอคนนี้เลยครับ ประเทศไทยเสียโอกาสอย่างมาก


น้อง ๆ ที่น่ารักจากร้าน Fathom Bookspace ร้านหนังสือที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนซอยสวนพลู ทุกวันนี้ต้องพยายามหาทางอยู่ให้ได้ด้วยการขายออนไลน์ แต่ต้องแบกต้นทุนการเปิดหน้าร้าน ผมเองเป็นเด็กถนนจันทน์ สวนพลู สาทร เกิดและเรียนแถวนี้ ย่างเข้าปีที่ 51 Fathom Bookspace เป็นร้านหนังสือแรกที่เป็นร้านหนังสือจริง ๆ ในย่านนี้ สมัยก่อนมีเพียงร้านเช่าการ์ตูน แผงหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่มีร้านนี้ผมว่าซอยสวนพลูมีความน่าสนใจมากขึ้นอีก อย่าทิ้งพวกเขาให้เหงาในแต่ละวันนะครับ 


กลับมาที่ Sex, Drugs and Rock’n Roll คนขายหนังสือทำธุรกิจไม่ค่อยเป็นหรอกครับ ยิ่งคนทำร้านหนังสือยิ่งทำธุรกิจไม่ค่อยเป็น ทั้ง ๆ ที่หนังสือต่างประเทศที่จำหน่ายราคาไม่น้อย ต้นทุนต่าง ๆ ก็สูงเอาเรื่อง แต่เราก็ยังขายราคาเท่าที่อังกฤษหรืออเมริกา มีบ้างที่แพงกว่าแต่ก็ไม่บ่อย เอาเข้าจริงถ้าผมอยู่ร้านน้องที่ร้านจะไม่ค่อยชอบเพราะถ้าผมไม่แถม แจก ผมก็จะชอบลดราคา ผมชอบหนังสือ และยิ่งชอบกว่านั้นเวลาเห็นคนอยากอ่านแต่สู้ราคาไม่ไหว หลังจากขายไป น้องจะหันมาทางผม “ค่าใช้จ่ายเข้าบัญชีพี่นะ จะจ่ายยังไง” นี่คือ Sex, Drugs and Rock’n Roll ตัวแรก ซึ่งเป็นเป็นหนึ่งใน Foundation สำคัญของการเปิดร้านหนังสือ 


ตัวสองคือเรื่องการเลือกหนังสือ โดยภาพลักษณ์ร้านหนังสือต้องถูกบริหารจัดการโดยผู้ที่มี Passion ในหนังสือ แต่ผมจะบอกว่านี่คือ Sex, Drugs and Rock’n Roll ตัวที่สองเพราะตายกันได้ง่ายมาก ถ้าไม่สร้างสมดุลให้ดีใส่ Passion ตัวเองเข้าไปมาก ๆ  หนังสือรอบร้านมันก็จะสะท้อนสักษณะของคนเลือกซึ่งไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะคิดเหมือนผม 


ตอนเปิดร้านช่วงแรกผมมี Passion เต็มเปี่ยม แต่ไม่กล้าใส่ลงไป เลือกที่จะเดินแบบปลอดภัยหน่อยคือ ลูกค้าเป็นหลักและใส่ Passion ตัวเองไปเล็กน้อย ผลตอบรับดีมาก กำไรและคืนทุนเร็ว หลังจากนั้นติสส์ขึ้นมากหน่อย เลือกเอา Passion ตัวเองเป็นหลัก ผลคือเงียบจนเปรียบว่าได้ยินจิ้งหรีดร้อง 


ตอนหลังจึง Back to Basic ถึงกลับมาได้แต่ไม่วายแอบมีเลี้ยวไปบ้าง ข้อนี้ต้องอย่าลืมแม้ว่าเราจะขายแต่คนซื้อก็มีสิทธิว่าจะซื้อหรือไม่ 


ข้อสุดท้ายคือเรื่องของอาชีพเป็น  Bookseller หรือคนขายหนังสือ นึกภาพใน 84 Charing Cross นะครับ ในภาพยนตร์คนขายหนังสือใส่สูท ทรงภูมิ มีความรู้ทุกคน ฝรั่งเขาบอกว่า (สมัยก่อน) คนขายหนังสือเรียกบางทีว่าเป็น Educated Person ถึง Overeducated ในบางครั้ง ได้สิทธิพิเศษของความน่าเชื่อถือคล้ายครู หมอ และพระในยุคหนึ่ง คือแนะนำอะไรไปใครก็เชื่อ (ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าสิทธิพิเศษแต่ละอาชีพที่กล่าวมายังอยู่ครบมั้ย) 


โลกเปลี่ยนไปจากผู้ทรงภูมิ อาชีพที่เป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน เหลือเพียงความพยายามดำรงชีวิตแต่ละเดือนให้ผ่านไปด้วยรายได้ที่พอดีกับรายได้ขั้นต่ำ ช่วงโควิดนี้อาจต่ำกว่ารายได้มาตราฐานด้วยซ้ำไป 


นี่คือโลกของคนขายหนังสือ มันคือ Sex, Drugs and Rock’n Roll ที่คนขายหนังสือต้องเผชิญ ไม่มีใครปฏิเสธว่าหนังสือสำคัญยังไงเหมือนกันที่ดนตรีร็อคจะอยู่ในใจเราเสมอ บ่อยครั้งที่ร้านหนังสือต้องดิ้นรนหาทางรอด ประหนึ่งกระแสร็อคที่บ้างครั้งก็หายใจรวยริน 


เหมือนที่ผมบอกครับ คนขายหนังสือทำธุรกิจไม่เก่งหรอก ร้านหนังสือทั่วโลกประสบปัญหาขาดทุนกันทั้งนั้นแม้ว่ายอดขายหนังสือจะโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตาม เราขายหนังสือได้มาก แต่เราต้องมีหน้าร้าน และต้นทุนการเปิดร้านนี่เองแหละครับ ถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจในอารยะของการมีร้านหนังสือ เขาจะสร้างความยั่งยืนให้เราได้


บ้างคงสงสัยว่าโลกกำลังไปออนไลน์ นั่นก็ใช่ครับ เราต้องมีออนไลน์ แต่ Heart & Soul ของการมีร้านหนังสือละ ไม่อยากเดินเข้าไปใช้เวลาเป็นชั่วโมงในร้านแบบนี้หรือ ไม่อยากเดินเลือกหนังสือไปเรื่อย ๆ  รู้อีกทีก็ถือกลับบ้านแทบไม่ไหว 


“อนาคตของร้านหนังสือ” สำหรับผมหนังสือก็ยังคงรูปเล่มแบบนี้ไปอีกนาน แต่จะมีร้านหนังสือให้เราเดินเข้าไปดมกลิ่นหนังสือ ได้สัมผัสหนังสือหลาย ๆ เล่มอยู่หรือเปล่าอันนี้ไม่รู้ หรือวันหนึ่งเมื่ออยากเข้าร้านหนังสืออาจเพียง “คลิก” เท่านั้น เพราะไม่มีร้านหนังสืออยู่จริงอีกต่อไป 


Sex, Drugs and Rock’n Roll ของ The Booksmith และ The Papersmith ยังวนเวียนอยู่ แต่อีกหนึ่งปีหลังจากนี้ เราอาจเหลือบ้านของเราที่เชียงใหม่เพียงแห่งเดียวก็ได้ ผมคงอยากมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนแทน sex แบบฉาบฉวย อยากลดความทะเยอทะยานฝันหวานเหมือนคนใช้ยาแต่สุขเท่าที่มี... ส่วน Rock’n Roll คงเลิกไม่ได้ 


ไว้เจอกันที่ร้านแล้วผมจะบอกว่า Rock’n Roll ของผมคืออะไร


Ode to Booksellers

The Booksmith