หลังจากเก็บตัวแบบไม่ตั้งใจกว่าสามปีเพราะโควิด การมาร่วมงาน Frankfurt  ในครั้งนี้จึงเหมือนกับการมา restart ทั้งตัวเองและร้านหนังสือหลังจากอยู่ในภาวะมึนงงเหมือนโดนกรรมการนับ 8 มาสองรอบ การมาในครั้งนี้สำคัญอย่างไร สิ่งที่เป็นหัวใจในการมางานหนังสือของ The Booksmith คือการได้เห็นหนังสือจริงโดยไม่ต้องจินตนาการเองว่าหน้าตา หรือด้านในของหนังสือจะเป็นอย่างไร วิธีนี้เรียกได้เต็มปากว่าเป็นการ sourcing หนังสือ สามปีที่ผ่านมาผมใช้จินตนาการไปมากและเปลืองทีเดียว งาน London Book Fair เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งแต่ความพร้อมและครบของสำนักพิมพ์ยังไม่เท่ากับที่ Frankfurt ข้อแตกต่างสำหรับผมคือหมวดสำนักพิมพ์ด้าน Art & Design ที่ London เหมือนเป็นเพียงของทานเล่น แต่ที่ Frankfurt คือ Main Course เลยทีเดียว

 

ธีมปีนี้คือการครบรอบ 75 ปี และที่ผมชอบมากคือ The Story Goes On อันเป็นการแสดงถึงการเดินทางของงานที่มาถึงจุดที่ 75 ปี แต่เรื่องราวยังไม่จบ ยังคงไปต่อ มรสุม eBook เมื่อช่วงปี 90s ต่อเนื่องช่วงออนไลน์ก็ยังรอดมาได้ ปัจจุบันเป็นยุค digital, online media ต่างๆ ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือเสริมให้หนังสือยิ่งขายดีขึ้นไปอีก อาทิ Tik Tok ที่กลายเป็น BookTOK ช่องทางหนึ่งของการสื่อสารเกี่ยวกับหนังสือที่กำลังได้รับความนิยม

 

กลับมาดูว่าหลังจากโควิดเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการขายหนังสือในแต่ละประเทศ ข้อมูลจาก Publishing Perspectives ที่แจกในงานมีระบุว่า ในปี 2022 ยอดขายหนังสือใน Canada (English) มีจำนวนขายไปกว่า 52 ล้านเล่ม โดยหนังสือเด็กและเยาวชน กับ Young Adult มีสัดส่วนการขายกว่าร้อยละ 41 หมวด non-fiction ร้อยละ 32 และหมวดนวนิยายร้อยละ 26

 

ยอดขายปี 2022 ในประเทศจีนนั้นรายได้ลดลงร้อยละ 11.77 เทียบกับปี 2021 การขายหนังสือผ่านร้านหนังสือลดลงกว่าร้อยละ 37 และลดลงร้อยละ 2.4 ในช่องทาง e-commerce สาเหตุหลักของการลดลงของรายได้มาจากโควิดเป็นสำคัญ ในขณะที่ช่องทางการขายเดิมมีอัตราส่วนที่ลดลงอย่างชัดเจน ช่องทางใหม่อาทิ Tik Tok, Douyin, และ Kuaishou มีอัตราเติบโตร้อยละ 43 (ที่มา: Beijing OpenBook/China Publishers Magazine)

 

สำหรับตัวเลขในญี่ปุ่น E-comics มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 89 จากยอดขายทั้งหมดของ digital books ในปี 2022 และสัดส่วนการขายของหนังสือหมวดนี้ยอดขาย Print และ Digital Format มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 41.5 โดยทั้งหมดมาจากหนังสือหมวด Comics น่าสนใจทีเดียวกับยอดขายและประเภทหนังสือที่ขายได้ในญี่ปุ่น

 

สุดท้ายเป็นตลาดสำคัญหนึ่งของการขายหนังสือภาษาอังกฤษคือตลาดหนังสืออเมริกา ในปี 2023 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม ร้อยละ 70 ของหนังสือที่ขายได้มาจากกลุ่มหนังสือที่เรียกว่า Backlist อันเป็นผลพวงของการมีอิทธิพลหลักอย่างช่องทาง BookTok ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ rebirth ของหนังสือหลายเล่มที่แม้จะพิมพ์ออกมานานหลายปีก็ตาม ตลาดอเมริกานั้นช่วงครึ่งปีแรกพบว่าหนังสือในหมวดเด็ก และเยาวชนมียอดขายจำหน่ายลดลงร้อยละ 15.2 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2022 ในทางกลับกันหนังสือกลุ่ม Adult มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 (ข้อมูล: AAP) และ eBook มียอดขายลดลงร้อยละ 1.3 จากมูลค่าตลาดในช่วงครึ่งปีคือ 493.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มาถึงตัวเลขที่น่าสนใจมากคือในปี 2022 มีร้านหนังสือเปิดใหม่กว่า 247 แห่งทั่วสหรัฐ

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่น่าสนใจสำหรับผมมากที่สุดคือจำนวนร้านหนังสือในอเมริกาที่เพิ่มขึ้น 247 แห่งในปี 2022 ปีเดียว และในทิศทางแบบนี้ไม่ใช่แค่ในอเมริกาข้อมูลที่เคยเห็นร้านหนังสือในอังกฤษก็ยังเดินหน้าเปิดใหม่เพิ่มขึ้นแม้อาจจะมีบางแห่งต้องปิด หรือย้ายสถานที่ก็ตาม ในส่วนที่ The Booksmith มีส่วนในการส่งหนังสือให้ร้านหนังสืออื่นๆตั้งแต่ปี 2020 ช่วงที่ทุกคนกำลังเริ่มเข้าสู่มรสุมโควิดอย่างเต็มตัว พร้อมกับการหาช่องทางรายได้ใหม่ๆเพื่อหลีกเลี่ยง Red Ocean จากการลดราคาหนังสือไทย เราพบว่ามีร้านหนังสือใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆทั้งแบบมีหน้าร้านและ online bookseller ผมไม่ได้อยากใช้คำว่า bookshop fight back แนวนั้นหรอก เพราะดูเกินจริงไปสักหน่อย เราอาจลืมไปว่าหนังสือเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเอกของโลก ตั้งแต่ Gutenberg เมื่อปี 1468 ที่ Letterpress Printing ถูกคิดค้นขึ้น หนังสือเป็นเพื่อยามเหงาอยู่คู่กับมวลมนุษย์มายาวนานและลึกเกินกว่าจะเลิกรักกันได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยังไม่มีอะไรดีกว่ามาทดแทนได้

 

พิเศษสุดในงานคือการได้เข้าร่วมฟัง Perspective Forum: Executive Talk หลังจากที่เข้าร่วม The Master Class ที่จัดขึ้นออนไลน์ก่อนงานราวหนึ่งอาทิตย์ ผมเข้าฟัง CEO ไทยอย่างคุณคิม จงสถิตย์วัฒนา จาก นานมีบุ๊คส์ เธอได้พูดถึงสิ่งที่ครอบครัวโดยเฉพาะคุณแม่ คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ได้สร้างนานมีบุ๊คส์ขึ้นเมื่อสามสิบปีที่แล้ว สิ่งที่รับรู้ได้นี่เป็นการพูดถึงธุรกิจตัวเองที่ Honest & Honor มากที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา ตลอดเวลาชั่วโมงกว่าผมไม่ได้ยินเนื้อหาว่าธุรกิจดีอย่างไร เราจัดการอย่างไรจนประสบความสำเร็จ แต่คุณคิมเลือกที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าปัจจุบันธุรกิจกำลังเผชิญกับอะไร และตัวเธอต้องผ่านอะไรมาบ้าง ที่สำคัญ “เรายังห่างไกลถ้าจะบอกว่าเราประสบความสำเร็จ ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก” หลายอย่างที่ถ่ายทอดออกมารับรู้ได้ถึงความมุ่งมั่น ถ้าเป็นนักฟุตบอลคงต้องบอกว่าคิมมีคลาสบอลที่เยี่ยมยอด เมื่อฟังจบผมไม่ได้รู้สึกว่าปัญหาคืออะไร แต่รู้ว่าทีมงานของนานมีทราบว่าตัวเองต้องทำอะไร เป้าหมายชัดเจนตั้งแต่วันที่คุณสุวดีเริ่มต้น ที่สำคัญผมรับรู้ได้ถึงการเป็น Honorable Bookseller เป็นการพูดที่ทำให้ผมรู้สึกขอบคุณที่เรายังมีสำนักพิมพ์ มีคนขายหนังสือคุณภาพแบบนี้ ในฐานะพ่อเมื่อได้ฟังแล้วก็อดภูมิใจแทนคุณสุวดีไม่ได้ที่ลูกไม้หล่นใต้ต้นเสียจริง และยิ่งเพิ่มความเคารพนับถือมากขึ้นไปอีก ผมอยากให้เราได้มีโอกาสฟังด้วยกันเพราะนี่คือจิตวิญญาณแห่งอนาคตของวงการหนังสือไทย ฝรั่งที่นั่งใกล้อุทานออกมาตลอดว่า "interesting, fantastic"  หรือที่ Porter Anderson บรรณาธิการบริหารของ Publishing Perspectives พูดบนเวทีบ่อยๆว่า "Wow! Very Honest" 


Next Stop สำหรับ The Booksmith คือ MagCulture LIVE ที่ลอนดอนในเดือนพฤศจิกายน นิตยสารเป็นส่วนที่เราตั้งเป้าหมายจะ restart ให้ได้ หลังจากหายไปเพราะปิดร้าน The Papersmith และโควิด เราต้องการสร้างให้ The Booksmith กลับมาเป็น Destination สำหรับ Independent Magazine อีกครั้ง