เที่ยวโบราณสถานบุรีรัมย์ 

        จังหวัดบุรีรัมย์ตั้งอยู่บริเวณภาคอีสานตอนล่าง ทิศใต้ติดกับประเทศกัมพูชา โบราณสถานจะได้รับอิทธิพลมาจากขอมโบราณ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ เป็นต้น บทความตอนนี้จะเล่าถึงสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นโบราณสถานทั้งหมด 3 ที่ 

        เริ่มจากที่ใกล้ตัวเมืองที่สุดก่อนก็คือ วนอุทยานเขากระโดง ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์เพียง 6 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 265 เมตร ชื่อเดิมคือ "พนมกระดอง" เป็นภาษาเขมร แปลว่า ภูเขากระดอง (เต่า) เป็นภูเขาที่มีรูปลักษณ์คล้ายกระดองเต่า ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "กระโดง” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเป็นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยา เพราะเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานกู่เขากระโดง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และมี “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ การขึ้นไปบนเขากระโดง ทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันไดจำนวน 297 ขั้น หรือ ขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา ใครอยากเห็นวิวของจังหวัดบุรีรัมย์ และไปดูปล่องภูเขาไฟรวมถึงหินลอยน้ำเชิญได้ค่ะ 

        ต่อมาก็อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า พนมรุ้ง นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18 เป็นโบสถ์พราหมณ์ในศาสนาฮินดูลัทธิไศวะ ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้นเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขะแมร์ได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นวัดมหายาน ในทุกปีจะมีปรากฏการณ์พระอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งในแต่ละปี ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้น 4 ครั้ง และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (ตามปฏิทินจันทรคติ ) ของทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ปราสาทพนมรุ้ง ให้ผู้ที่สนใจร่วมชมขบวนแห่พระนางภูปตินทรลักษมีเทวีและเทพพาหนะทั้งสิบ รวมถึงการแสดงแสง สี และเสียง ณ ด้านหน้าปราสาทพนมรุ้ง และบริเวณโดยรอบจะมีการจัดขายสินค้า OTOP ของทั้งจังหวัด หากใครสนใจไปเที่ยวช่วงปรากฏการณ์พระอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของจังหวัดบุรีรัมย์ค่ะ 

        และอีก 1 โบราณสถานคือ ปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้งเพียง 8 กิโลเมตรตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดปราสาทบูรพาราม ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะบาปวนตอนต้น และลดความสำคัญลงไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 และถูกทิ้งร้างในที่สุด จนเมื่อราวปี พ.ศ. 2490 จึงเริ่มมีการอพยพเข้ามาของชาวบ้าน มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย ภาพสลักส่วนมาก ล้วนเป็นภาพเกี่ยวกับการอวตารของพระนารายณ์ อีกทั้งเป็นปราสาทน้ำล้อม ซึ่งเป็นลักษณะของไวษณพนิกาย ต่างจากปราสาทบนภูเขาของไศวนิกาย จุดเด่นอีกอย่างคือมีสระน้ำทั้ง 4 ล้อมรอบระเบียงเป็นแนวคดมีลักษณะเป็นรูปตัวแอล ( L ) ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ ขอบสระด้านบนแกะสลักด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาค ที่มุมสระสลักเป็นนาค 5 เศียร สร้างเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่จังหวัดบุรีรัมย์ หรือสนใจสถาปัตยกรรมขอมโบราณ สามารถไปศึกษาเยี่ยมชมกันได้ค่ะ 

        และของฝากขึ้นชื่อของอำเภอประโคนชัยก็คือ “กุ้งจ่อมประโคนชัย” ใครที่ชอบกินปลาร้าต้องลองเลย อร่อยมากจะกินกับผักต่าง ๆ หรือนำไปปรุงกับวัตถุดิบอย่างอื่นก็จะได้เมนูใหม่เช่น กุ้งจ่อมผัดไข่ ยำกุ้งจ่อม หลนกุ้งจ่อม เป็นต้น หากใครมีโอกาสไปลองหาทานได้กันนะคะ


เรื่อง : สมรมาศ

ภาพประกอบ : Serm